Pain Point ของ LGBTQ คือ การหาชุดชั้นในที่ตอบโจทย์สรีระของตัวเอง เช่น เสื้อชั้นในที่ปกปิดหน้าอกให้แบนราบ
กางเกงชั้นในที่ช่วยเก็บทรงให้เหมือนผู้หญิง เสริมสะโพก ยกสะโพก บรารัดซี่โครงกระชับใต้อกและอื่น ๆ
ตลาด LGBTQ แม้จะเป็นตลาดที่เล็กด้วยจำนวนผู้บริโภคในประเทศไทยเพียง 4 ล้านคน แต่เป็นตลาดที่มีโอกาสจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ที่มี Pain Point เฉพาะเจาะจง
และที่สำคัญตลาดนี้ยังเป็นบลูโอเชียน แทบจะไม่มีผู้แข่งขันในประเทศไทย
โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่ต่างลงเล่นในตลาดชุดชั้นในสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย จากการมองเห็นขนาดของตลาดที่มีขนาดใหญ่ ที่สามารถผลิตสินค้าและทำตลาดเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มแมสได้มากที่สุด
มีเพียงตลาดชุดชั้นในพรีออเดอร์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง
และชุดชั้นในแบรนด์เล็กที่ทำขึ้นมาจำหน่ายให้กับกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ
และเป็นเหตุผลที่ทำให้วาโก้ทำตลาด LGBTQ อย่างจริงจัง และสื่อสารชุดชั้นในกลุ่มนี้ผ่านชื่อ คอลเลกชัน Freedom อิสระที่ไม่มีนิยาม
จากเดิมที่วาโก้รับตัดชุดชั้นในสำหรับ LGBTQ ผ่านกลุ่มบริการ บอดี้ คลินิก รับตัดชุดชั้นในเฉพาะบุคคล เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, ผู้ที่ขนาดรูปร่างพิเศษ, LGBTQ และ Pressure Garment ให้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ชุดที่มีแรงกดทับเพื่อการรักษา
ซึ่งการอยู่ในกลุ่มบริการบอดี้ คลินิก ทำให้วาโก้ไม่สามารถทำตลาดแมสได้ จาก Awareness ที่ยังไม่มากพอ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการแนะนำปากต่อปาก และช่องทางจัดจำหน่ายที่มีเฉพาะออนไลน์ เป็นหลัก
ชุดชั้นในที่ตัดออกมาจำหน่ายสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงตัดทีละปริมาณไม่มากนัก และไม่มีดีไซน์เป็นคอลเลกชันให้เลือก
วาโก้เริ่มนำร่องทำตลาดชุดชั้นใน คอลเลกชัน Freedom ถึงกลุ่มแมสมากขึ้น และการสื่อสารสร้างการรับรู้ถึงชุดชั้นในกลุ่มนี้ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ เดือนมิถุนายน 2565
ก่อนที่จะทำตลาดอย่างจริงจัง วางขายตามเคาน์เตอร์วาโก้ปกติในรูปแบบแมส ปี 2566
และออกคอลเลกชันใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีเพียง 1 คอลเลกชันนำร่องทำตลาดเท่านั้น
พร้อมกับทำแคมเปญการสื่อสารที่แมสยิ่งขึ้น ผ่านโฟโต้ชูต ภาพถ่ายเชิงโฆษณา และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง
สำหรับรูปแบบสื่อสารสินค้าที่วางในเคาน์เตอร์ทางวาโก้จะใช้ข้อความว่าฟรีดอมติดอยู่บนชั้นวางเพื่อสื่อสารว่าคือชุดชั้นในสำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
แทนการระบุว่าชุดชั้นในสำหรับ LGBTQ เนื่องจากวาโก้มองว่าเป็นเหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่มาซื้อสินค้า ไม่ต้องการให้แยกระบุออกมาชัดเจนว่าคือกลุ่ม LGBTQ
ส่วนชุดชั้นในที่รัดหน้าอกจะใช้คำว่า บราสำหรับรัดหน้าอก เพราะถ้าไม่สื่อสารถึงจุดเด่นวาโก้มองว่าผู้บริโภคอาจไม่รู้
และตั้งราคาไม่แตกต่างจากชุดชั้นในของผู้หญิง เพื่อแข่งขันกับชุดชั้นในสำหรับ LGBTQ จากต่างประเทศที่มีราคาสูง
ส่วนแบรนด์เล็ก ๆ ในประเทศวาโก้แข่งขันด้วยคุณภาพ
อย่างไรก็ดี สำหรับตลาด LGBTQ แม้จะเป็นโอกาสในการแข่งขัน แต่ยังมีความท้าทายจากการสื่อสารและการเข้าถึง เพื่อสร้างภาพลักษณ์กลุ่มผู้บริโภคนี้มองวาโก้เป็นแบรนด์สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะในโมเมนต์ที่ชัดเจน แต่ไม่แบ่งแยก
ส่วนยอดจำหน่ายของวาโก้ฟรีด้อมจะชนะใจ LGBTQ ได้มากแค่ไหน คงต้องรอให้อนาคตตัดสิน